Category Archives: การเก็บออม การบริหารเงิน

มนุษย์เงินเดือน ปรับตัวอย่างไรดี ในช่วง Covid-19 อย่างนี้

ช่วงเวลานี้อยากเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านเหตุการณ์ที่ยากลำบากในเวลานี้ไปได้ด้วยดี และ หวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้โดยไว

 

สถานการณ์ที่โรค Covid-19 ระบาดจนทางการออกมาตรการปิดสถานประกอบการหลายต่อหลายแห่ง กระทบการทำงาน และ การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน หลายคนอาจจะเริ่มเห็นสัญญาณ ทางการเงินของตนเองที่เริ่มจะเกิดปัญหา หลายคนก็มีปัญหาด้านรายได้แล้ว ครั้งนี้จึงอยากจะบอกว่ามีช่องทางด้านการเงินอะไรบ้างที่พอจะช่วยประคองเราให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

 

ในส่วนของเรื่องการเงิน สำหรับคนที่มีการวางแผนการเงินมาอย่างดี ก็น่าจะมีการออมเงินในรูปแบบต่างๆ ไว้ ทั้งตั้งใจและโดนบังคับให้ออม วันนี้จะมาบอกว่า มีเงินสำรองส่วนใดบ้างที่พอจะช่วยให้ผ่านช่วงเวลาขัดสนทางการเงินนี้ไปได้บ้าง

  1. เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเงินสภาพคล่อง 3 – 6 เดือน จะเป็นเงินสำรองที่ผู้ที่วางแผนการเงินอย่างดีจากการที่คิดเก็บเงินเองหรือ มีนักวางแผนการเงินช่วยแนะนำ ปกติเงินส่วนนี้ควรจะมีสำหรับพอใช้ 3-6 เดือน สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการเก็บเงินส่วนนี้ไว้ ถ้าหากผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ก็อยากให้มองเห็นความสำคัญและเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉินนี้ไว้ เพราะจะช่วยได้เป็นอย่างมากในอนาคต
  2. เงินฝากประจำแบบ 24 เดือนปลอดภาษี หรือ เงินฝากประจำ หรือ เงินออมที่เก็บแบบรายเดือน เงินส่วนนี้ก็เป็นเงินที่น่าจะมีสำหรับคนที่วางแผนการเงินเป็นอย่างดี คือมีการกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อออมในช่วงที่ผ่านมา หากท่านใดมีเงินส่วนนี้ ก็สามารถนำมาใช้ได้ยามจำเป็น แม้จะไม่ได้ดอกเบี้ยครบกำหนด แต่ก็ยังดีที่ได้เงินก้อนออกมาใช้จ่ายได้
  3. การจัดการกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มี หลายท่านเมื่อเหตุการณ์ปกติมีการทำประกันชีวิตไว้หลายฉบับ ปกติประกันชีวิตทั้งแบบคุ้มครองและแบบออมทรัพย์ ถ้าจะให้ได้ประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด ควรถือไปจนครบอายุสัญญา แต่ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้านการเงินแบบนี้ อาจจะต้องพิจารณา
  • กู้เงินจากกรมธรรม์ที่มีอยู่ จะใช้ได้กรณีที่มีการส่งประกันมาแล้วระยะหนึ่งและมีมูลค่าเงินสดที่สามารถกู้ได้ ข้อดีคือ ความคุ้มครองทุกอย่างยังคงเดิม เมื่อกู้เงินออกมาดอกเบี้ยจะไม่สูงมากเพราะเป็นการกู้เงินออมของตนเอง
  • ปรับลดความคุ้มครองบางรายการ โดยเฉพาะเบี้ยหลักที่เป็นออมทรัพย์ ส่วนความคุ้มครองด้านสุขภาพหากจะลด ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาดีๆ เพราะการลดความคุ้มครองจะทำให้เบี้ยประกันที่จ่ายลดลงแต่ หากเกิดเหตุก็อาจจะได้ความคุ้มครองที่ไม่เพียงพอ
  • อาจพิจารณเวณคืนกรมธรรม์ กรณีที่ไม่มีรายได้แล้ว การส่งเงินประกันก็จะเป็นภาระ ในบางครั้งหากจำเป็นจริงๆ การเวณคืนกรมธรรม์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งจะช่วย ลดรายจ่ายเบี้ยประกันลงทันที และ ได้รับเงินค่าเวณคืนกรมธรรม์ แต่วิธีนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย
  1. เงินลงทุนในที่ต่างๆ อาจจะลองตรวจเช็คดูกับบัญชีธนาคาร กองทุน หุ้น ที่เคยไปลงทุนว่ามีที่ใดบ้าง อาจจะพบว่ามีเงินลงทุนค้างอยู่ในที่ใดก็ได้ ถือเป็นการทบทวนบัญชีการลงทุนไปในตัว
  2. ขายทรัพย์สินเทียมออกไป หลายคนที่ชอบซื้อสิ่งของเก็บไว้เพราะคิดว่าเป็นทรัพย์สินนั้น อาจจะเข้าใจผิดมาตลอด เพราะ ทรัพย์สินที่แท้จริงคือ สิ่งที่จะสร้างเงินให้กับเราตลอดเวลา ส่วนทรัพย์สินเทียมนั้นจะดูดเงินเราออกไปตลอดเวลา โดยจะสร้างเงินให้เราก็คือตอนขายทิ้งไป ตัวอย่างทรัพย์สินเทียม เช่น รถยนต์ที่เกินความจำเป็น นาฬิกาหรู กระเป๋าแบรนด์เนม ของสะสม สิ่งเหล่านี้เราจะต้องเสียเงินบำรุงรักษา หรือ เก็บไว้เฉยๆ เพื่อโชว์ เมื่อถึงวันที่จำเป็นอย่างนี้อาจจะได้เวลาเคลียทรัพย์สินเทียมออกไปซะที
  3. เงินชดเชยการว่างงาน ประกันสังคม มาตรา 33 หากทำงานบริษัทและตกงาน สามารถลงทะเบียนรับเงินชดเชยการว่างงาน โดยจำนวนเงินและระยะเวลาที่จะได้เงินชดเชยขึ้นอยู่กับ ออกเอง ถูกพักงาน หรือ ถูกเลิกจ้าง แต่จะได้ประมาณ 4,500 – 11,250 บาท ระยะเวลา 3-6เดือนแล้วแต่กรณี
  4. มาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินที่ออกมาช่วยเหลือ เช่น การช่วยลดค่าผ่อนชำระของธนาคาร บัตรเครดิต การปรับโครงสร้างหนี้ เรื่องหนี้สินหากไม่ไหวสามารถคุยกับเจ้าหนี้เพื่อปรับ จำนวนเงินผ่อน หรือ ยืดระยะเวลาได้ จำไว้ว่าเจ้าหนี้พร้อมจะคุยและช่วยลูกหนี้เพราะถ้าลูกหนี้ทยอยผ่อนไปได้สุดท้ายเจ้าหนี้ก็ได้เงินคืน ดีกว่าลูกค้าไม่ไหวแล้วหนีไปเลยซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องวุ่นวายเรื่องคดีความกับภายหลัง
  5. มาตรการภาครัฐที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายหรือแจกเงิน เช่น ทำเรื่องคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า รัฐแจกเงิน 5,000 บาท 3เดือน (สำหรับอาชีพอิสระ) และมาตรการอื่นๆ ถ้าเราไม่ปล่อยประละเลยและเข้าไปลงทะเบียนก็จะได้เงินส่วนนี้มาช่วยเหลือ

 

ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็น่าจะยังมีออกมาอีกเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ ระหว่างนี้ก็อาจจะต้องหาทางหารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่าย และเมื่อผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ก็หวังว่าครั้งนี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ทุกท่านวางแผนการเงินได้ดีขึ้น เพราะความไม่แน่นอนนั้นจะมาอีกอย่างแน่นอนในอนาคต เราจะสู้ไปด้วยกันครับ

Leave a comment

Filed under การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

จังหวะนี้ RMF / LTF ยังน่าลงทุนไหม ?

เวลามีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ถาโถมเข้ามาในตลาดหุ้น แล้วเราได้ยินข่าวว่า ตลาดหุ้นตก ติดลบหลายสิบจุด นักลงทุนแห่เทขาย เม่าตายเป็นเบือ ฯลฯ ถ้าเราไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นแบบจริงจัง ก็คงไม่ได้กังวลอะไร และ คิดว่าตัวเองก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่หุ้นขึ้น หรือ หุ้นตก ก็เป็นเพียงแค่ข่าวๆ หนึ่งเท่านั้น

 

อันที่จริงเราบางคนก็ลงทุนในตลาดหุ้นอยู่นะ ซึ่งมีทั้ง ลงทุนทางตรงและทางอ้อม

  • ลงทุนทางตรง โดยการเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์เพื่อซื้อหุ้นเพื่อลงทุน/เก็งกำไร
  • ลงทุนทางอ้อม โดยการ ซื้อกองทุน RMF / LTF เพื่อลดภาษี

 

สำหรับพวกเราที่มีรายได้ต้องเสียภาษีและเห็นความสำคัญของการลงทุนกองทุน  RMF / LTF เพื่อใช้ลดภาษี การที่เราเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุน RMF / LTF ให้เหมาะกับตัวเราตั้งแต่แรกก็เป็นวิธีหนึ่งที่จำกัดความเสี่ยงการลงทุนของเราได้เป็นอย่างดี

 

slide2

กองทุน RMF ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขต้องลงทุนถือยาวไปจนอายุครบ 55 ปี

กองทุน RMF เปิดกว้างการลงทุนสำหรับทุกความเสี่ยง คือ มีทั้งเสี่ยงต่ำมากอย่างกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล ไปจนเสี่ยงสูงมากอย่าง กองทุนทองคำ กองทุนน้ำมัน

สิ่งที่เราเลือกได้ คือ เราสามารถเลือกที่จะลงทุนตามความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น หากอายุยังไม่มาก มีเวลาลงทุนอีกยาว (เกิน10ปี) ก็สามารถพิจารณาลงทุนกองทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง-สูงได้

ส่วนผู้ที่ใกล้เกษียณก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนเสี่ยงต่ำอย่าง กองทุนพันธบัตร กองทุนตลาดเงิน

 

กองทุน LTF ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขต้องถือลงทุน 7 ปีปฏิทิน

กองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะต้องลงทุนในหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของเงินกองทุน แต่โดยทั่วไปก็จะลงทุนเกือบ 100% ในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นถือว่ากองทุน LTF มีความเสี่ยงตามตลาดหุ้นไทย แต่จะมีรายละเอียดต่างกันในนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง

สิ่งที่เราเลือกได้ คือ นโยบายลงทุนของกองทุนเป็นอย่างไร โดยที่พบหลักๆ เช่น

  • ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่
  • ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก
  • ลงทุนในหุ้นปันผล
  • ลงทุนในหุ้นเติบโต
  • ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ 50 อันดับแรก
  • ลงทุนในหุ้นเพียง 70% (กองนี้เสี่ยงต่ำกว่าหาก เทียบกับกองอื่นๆ)

 

หากว่าเราเลือกนโยบายการลงทุนได้เหมาะสมกับระดับการรับความเสี่ยงของเราได้แล้ว ก็ถือว่าเรามาได้ถูกทางแล้ว ต่อไปก็จะเป็นเรื่องจังหวะการลงทุน แม้เรามีเวลาซื้อลงทุนได้ตลอดทั้งปี แต่คำถามที่สำคัญคือ แล้วควรจะซื้อวันไหนดีล่ะ?

จะบอกข่าวดีที่สำคัญข้อหนึ่งของการลงทุน RMF / LTF ให้ฟังว่า “หุ้นตกหนัก คือ โอกาสทอง” ครับ

slide1

เอาง่ายๆ สมมุติว่า นาย A และ นาย B มีรายได้ต่อปี 1,000,000 บาทเท่ากัน แล้วอยากจะลงทุนกองทุน XYZ-LTF เต็มสิทธิที่ 15% ดังนั้น นาย A และ นาย B ก็วางแผนที่จะซื้อกองทุน XYZ-LTF 150,000 บาทในปีนี้ทั้งคู่

 

กรณี 1 : สมมุติตลาดหุ้นเมื่อวาน ทำให้ราคาหน่วยลงทุน(NAV)ของกองทุน XYZ-LTF อยู่ที่  15.0000แล้วนาย A ซื้อ 150,000 บาท จะได้ทั้งหมด 10,000.0000 หน่วย

 

กรณี 2 : สมมุติตลาดหุ้นวันนี้ตกลงแรงมาก ทำให้ราคาหน่วยลงทุน(NAV) ของกองทุน XYZ-LTF ลดลงอยู่ที่ 14.0000 แล้วนาย B ซื้อ 150,000 บาท จะได้ทั้งหมด 10,714.2857 หน่วย

 

เมื่อเวลาผ่านไปจนครบกำหนดที่สามารถขายคืนหน่วยลงทุน LTF ได้แล้ว สมมุติว่า มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน XYZ-LTF เท่ากับ 20.0000 ณ วันที่ทั้งคู่อยากจะขายคืน

นาย A จะขายได้ : 200,000.00 บาท

นาย B จะขายได้ : 214,285.71 บาท

จะเห็นได้ว่า นาย B ที่ซื้อกองทุน XYZ-LTF วันที่หุ้นตกหนักจะได้กำไรมากกว่าเยอะทีเดียว

ส่วนเคล็ดลับเวลาขาย ก็ทำกลับกันคือ ให้ขายกองทุนในวันที่หุ้นขึ้นแรงๆ แล้วจะได้กำไรงามๆ

ติดตามข้อมูลการลงทุนที่น่าสนใจได้ที่
https://www.krungsri.com/bank/th/KrungsriGuru.html

 

กองทุนแบบไหนตอบโจทย์#ฟรีแลนซ์
https://youtu.be/LQ6QiExqxLY

 

บทความนี้เป็น: advertorial

Leave a comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management, LTF, RMF

ลดภาษีอย่างชาญฉลาด

        ช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่ปี 2558 จะผ่านไป ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนมีความสุขสมหวัง

ถ้าทำงานประจำก็ขอให้ได้โบนัส ได้เลื่อนขั้น ถ้าทำธุรกิจส่วนตัวขอให้ขายดีมีเงินมีทอง

ถ้าเกษียณแล้วขอให้มีสุขภาพแข็งแรงมีความสุขเงินทองใช้จ่ายเหลือเฟือ

 

สำหรับท่านที่มีรายได้และต้องเสียภาษี อย่าลืมใช้สิทธิเพื่อลดหย่อนภาษีกันด้วยนะครับ ผมจะขอให้เกณฑ์เบื้องต้นไว้พิจารณาในการ พิจารณาใช้สิทธิทางภาษีดังนี้นะครับ

1page

รายได้แค่ไหนควรเริ่มวางแผนภาษี

  • ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 บาท เสียภาษีที่ฐาน 5% และหากมีค่าลดหย่อน อยู่แล้วเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนบุตร เลี้ยงดูบิดามารดาสูงอายุ ดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ฯลฯ อาจเลือกไม่ลงทุนเพิ่มเพื่อลดภาษีก็ได้ เพราะด้วยค่าลดหย่อนที่มีอยู่อาจทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือ เสียเพียง 5% ซึ่งอาจคุ้มค่าน้อยในการใช้การลงทุนเพื่อลดภาษี

 

  • ผู้มีรายได้ต่อปีเกิน 400,000 บาท เพราะถือเป็นช่วงต้นของผู้ที่เริ่มมีภาระต้องเสียภาษี ที่ฐาน 10% มีความคุ้มค่ามากขึ้นในการวางแผนเพื่อลดภาษีและเป็นการออมเงิน

 

  • ผู้ที่ควรจะต้องวางแผนภาษีอย่างยิ่ง คือผู้ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1,000,000 บาท เพราะจะเป็นผู้เสียภาษีที่ฐาน 15% – 30% ดังนั้นคุ้มค่าที่จะวางแผนภาษีที่สุด

 

คราวนี้ถ้าเรารู้แล้วว่าเราควรจะต้องลงทุนทางการเงินเพื่อลดภาษี เราจะเลือกลงทุนอะไรดี เพราะมีคนมานำเสนอมากมายไม่รู้ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เงินจำนวนเดียวกันที่ลงทุน เช่น มีเงิน 10,000 บาทที่จะใช้ลงทุนลดภาษี [ ไม่ว่าจะไปลงทุน LTF / RMF / ประกันชีวิต* / ประกันชีวิตแบบบำนาญ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ดอกเบี้ยผ่อนบ้าน]  ก็สามารถลดภาษีได้เท่ากัน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ รูปแบบระยะเวลา ผลตอบแทน ความเสี่ยง ประโยชน์ของสิ่งที่เราลงทุน

 

เครื่องมือทางการเงิน

LTF

คนรู้จักและชอบ มากที่สุด มีจุดเด่นคือ สั้น เสี่ยง

สำหรับนักลงทุนที่ไม่อยากมีพันธะมาก มีเงื่อนไขหลักคือ ต้องถือหน่วยลงทุนเป็นเวลา 5ปีปฎิทินขึ้นไป (บางคนบอกว่า 3ปี 2วันก็ขายได้) วัยรุ่นมักจะชอบเพราะไม่ชอบผูกพัน จะลงทุนปีไหนก็ได้ ปีไหนไม่มีเงินก็ไม่ลง กองทุนนี้ลงทุนในหุ้นไทยจึงมีความเสี่ยงได้ลุ้นไปด้วย LTF ลงทุนไม่เกิน 15% ของรายได้

 

RMF

คนอายุน้อยไม่ชอบ แต่คนวัยใกล้เกษียณเสียดายที่ไม่ได้ซื้อมาก่อนและเร่งซื้อเต็มกำลัง

หลายคนบอกว่าไม่เคยคิดถึงRMF เพราะมีเงื่อนไขคือ ขายได้เมื่ออายุ 55ปี (อีกนานนนน ตอนนี้เพิ่งอายุ 30 เอง) และ ถูกบังคับให้ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี(ปีเว้นปีก็ได้) แต่จะบอกว่าคนที่อายุใกล้ 50ปี เปรยให้ฟังว่า รู้งี้ซื้อ RMF เยอะๆ ดีกว่าเพราะ ตัวเองกำลังจะเกษียณถ้ามีเงินรอไว้สัก 3-5ล้านมันจะฟินกว่า (ที่ผ่านมา LTF พอครบก็ขายออกมาใช้หมดแล้วตั้งแต่ช่วงอายุ40-50ปี) แต่RMF ขายไม่ได้มันเลยสะสมจนได้หลายล้านแล้วน่ะสิ^^

 

ประกันแบบออมทรัพย์

ส่วนใหญ่จะซื้อเพราะถูกอ้อนวอนจากสาขา/ตัวแทน ให้ช่วยทำเป้าก่อนสิ้นปี

ประกันออมทรัพย์เหมาะกับคนที่อยากบังคับตัวเองเก็บเงิน มีแบบส่งสั้น 1-10ปี แต่ทุกแบบจะได้เงินคืนทั้งก้อนเมื่อครบ 10ปีขึ้นไป โดยระหว่างทางอาจมีปันผลก้อนเล็กๆ ได้ ภาระผูกพันก็คือ จ่ายเงินก้อนเท่ากันทุกปี ตามระยะเวลาที่กำหนด แล้วพอครบ10ปีก็ได้เงินออมนั้นคืนไป ความคุ้มครองชีวิตได้พอๆ กับเงินที่จ่ายไป +สัก5-10% เบี้ยประกันนำมาลดภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท

 

ประกันแบบบำนาญ

คนยังไม่ค่อยรู้จักและคนที่ซื้อควรจะเป็นคนที่ซื้อประกันแบบธรรมดา 100,000 บาทเต็มวงเงินแล้ว ประกันแบบบำนาญสามารถลดภาษีเพิ่มได้อีกสูงสด 200,000 บาท* แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ (เท่ากับใช้ประกันลดภาษีได้ 300,000 บาท) ข้อดีคือ เหมือนคุณเลี้ยงลูก1คน คุณก็ส่งเสียเขาจนคุณอายุ 55ปี เงินที่ส่งเสียเขาก็เอาไปลดภาษีได้ จากนั้นเมื่อคุณอายุ55ปี เขาก็จะให้เงินเลี้ยงดูคุณจนคุณอายุ 90ปี* (คุณเลี้ยงเขา 10-25ปี และเขาเลี้ยงคุณ 35ปี)

 

จะบอกว่าทุกการลงทุน มันมีข้อดี/ข้อด้อย ดังนั้นขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนว่าเหมาะและชอบแบบไหน

ที่สำคัญคือ พอเรารู้ข้อแตกต่างของแต่ละการลงทุนอย่างนี้แล้ว

เราก็สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับเราที่สุดได้แล้วจริงไหมครับ ^_^

2 Comments

Filed under การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

ลงทุนในหุ้นคุณหวังว่าจะได้กำไรเท่าไร

S__20496407

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดมาแล้ว 40 ปี ว่ากันว่าผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนคือประมาณ 12% ทบต้น แต่ก็มีปีที่ได้เกิน 100% และ มีปีที่ติดลบมากกว่า 50% ยิ่งหากมองไปที่หุ้นเป็นรายตัว บางตัวราคาเพิ่มขึ้นเป็น หลายพันเปอร์เซนต์ และเช่นกันที่หลายตัวต้องถูกออกจากตลาดโดยนักลงทุนเสียเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด

 

สำหรับนักลงทุนแนวเทคนิค อาจจะสามารถทำกำไรในหุ้นได้ วันละหลายรอบ รอบละ 1-5% ถ้าทำได้ทุกวันก็คงจะมีกำไรปีละ 200-1,000% ส่วนนักลงทุนแนววีไอ ก็อาจจะเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดีแล้วรอให้ขึ้นไป 200-500% ใน 3-5ปี ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนส่วนใหญ่ก็จะฟังตามๆ กันว่าตัวนั้นตัวนี้จะมา แล้วเข้าไปเก็งกำไรแบบแนวเทคนิค แต่พอผิดพลาดกลับไม่สามารถทำใจตัดขาดทุนซึ่งเป็นหัวใจของนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคได้ แต่กลับแปลงกายเป็นนักลงทุนวีไอ(ในหุ้นที่ไม่ใช่วีไอ) ทนถือยาวขาดทุนไป

 

แม้แต่บางคนที่คิดว่าตนเองเป็นวีไอ (กึ่งๆ) อุตส่าห์เลือกลงทุนในหุ้นใหญ่พื้นฐานดีแต่เพราะมาทีหลังจึงเข้าหุ้นดีที่ราคาแพง(PEสูง) พอถึงช่วงหนึ่งราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและอาจจะมีการย่อลงมาบ้าง ก็พาให้อึดอัดใจ ว่าอุตส่าห์เลือกหุ้นใหญ่พื้นฐานดีแล้วก็ยังทำผลตอบแทนได้ไม่ดี ครั้นจะให้ไปหาหุ้นเล็กๆ กลางๆ ที่กำลังจะมีอนาคตเพื่อจะเป็นหุ้นวีไอ ที่แท้จริงในอนาคตเหมือนหุ้นวีไอรุ่นพี่ ตนเองก็ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ขาด เพราะอนาคตของบริษัทก็ยังไม่เห็นชัดเจนแน่นอน ถ้าไปลงทุนแล้วธุรกิจตั้งไข่ไม่ได้ซะทีก็รู้สึกว่าเงินจม และ มักจะลังเลว่าตนคิดผิดหรือเปล่าที่มาลงทุนกับอนาคตบริษัทที่ยังไม่แน่นอน

 

ที่เกริ่นมาซะเยอะก็อยากจะบอกว่า การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เสี่ยงมากๆ ก่อนที่คุณจะลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปีในระยะยาวนี้  อยากลองถาม ให้คุณคิดว่า

  • คุณคาดหวังผลตอบแทนการลงทุนต่อปีที่เท่าไร?
  • ช่วง 2-5ปีที่ผ่านมา คุณทำกำไรจากการลงทุนได้กี่เปอร์เซนต์ต่อปี?

 

ถ้าหากทำผลตอบแทนได้น้อยกว่า 12% หรือ แม้แต่น้อยกว่า 20% ต่อปี ผมว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงมากเกินกว่าผลตอบแทนที่ได้ (คือ เสี่ยงมากแต่ได้ไม่มาก)

 

แล้วอย่างนี้จะไปลงทุนอะไรดีล่ะ ฝากเงินนี่ยิ่งได้น้อยใหญ่เลยแค่ 0.5% – 3.0% เงินเฟ้อก็ประมาณ 3% สรุปคือฝากเงินไปก็เหมือนไม่ได้อะไรเพิ่ม

 

จริงอยู่ตลาดการเงิน บ้านเรามันอยู่ 2 ฝั่งสุดขั้วกันอยู่ ก็คือ

  • ถ้าเล่นหวย เล่นหุ้น ผลตอบแทนสูง และ ความเสี่ยงจะสูงมาก
  • ส่วนถ้าฝากเงิน ผลตอบแทนก็จะต่ำมาก แต่ก็มีการรับรองว่าเงินไม่หายไปไหน

 

หลายคนอยากจะรับความเสี่ยงบ้าง โดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทน ค่อนข้างดีผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้นที่พยายามมองหาการลงทุนดังว่านี้ และตอนนี้ผมก็พบแล้วว่ามีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในช่วง 5-10% โดยความเสี่ยงกลางๆ พอรับได้นั่นคือ การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ สิทธิการเช่าต่างๆ

 

กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ขอเปรียบเทียบกับการมีบ้านเช่า ดังนี้ว่า สมมุติ ผมมีเงิน 1,000,000 บาท ผมสามารถซื้อทาว์นเฮาส์หลังหนึ่งสัก 8 แสนบาท รวมค่าโอนค่าใช้จ่ายจิปาถะแล้วรวมๆ เป็น1ล้านครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด แล้วผมปล่อยเช่าได้เดือนละ 6,000 บาท เป็นปีละ 72,000 บาท หรือผลตอบแทนปีละ 7.2%

 

กองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นกันคือจะนำเงินที่รวบรวมได้ไปลงทุน ในสินทรัพย์คือ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โกดัง ตึก แล้วปล่อยเช่าโดยมีรายรับจากค่าเช่า ซึ่งผลตอบแทนค่าเช่าที่ได้ก็อยู่ที่ 5-15% ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้ก็จะเฉลี่ยอยู่ในช่วงนี้ ในแง่ความเสี่ยงก็มีกรณีที่ผู้เช่าไม่เช่าต่อ หรือ ทรัพย์สินเสียหายเช่นไฟใหม้ แต่โดยมากกองทุนจะกระจายการลงทุนออกไปหลายๆ อาคาร ก็จะลดความเสียหายใหญ่ๆ ได้

 

โดยสรุปก็คือ

หากต้องการความมั่นคงปลอดภัยในการลงทุนแบบเต็มที่ก็ลงทุนใน เงินฝาก ซึ่งเสียงน้อย และได้ผลตอบแทนน้อยมาก แต่หากอยากได้ผลตอบแทนมากขึ้น ลงทุนแล้วกินได้นอนหลับได้กำไรสม่ำเสมอพอสมควร ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่หากอยากวัดดวงกล้าได้กล้าเสีย คิดว่าถ้าจะรวยมันต้องมีดวง ก็แนะนำให้ ลงทุนในหุ้น และ ซื้อหวยครับ  ขอให้โชคดีและมีความสุขในการลงทุนนะครับ^_^

Leave a comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, หุ้นล้วนๆ, Financial Management

แผนการหาเงิน

DSC_0250

        เมื่อครั้งก่อนได้กล่าวถึง การวางแผน (การเงิน)ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง และได้บอกไว้ว่า ข้อแรกของการวางแผนทางการเงินคือ การหาเงิน

พูดถึงการหาเงินแล้ว ใครๆ ก็คงคิดถึง การออกไปหางานประจำในบริษัท

 

จะว่าไปการทำงานบริษัทก็ดีนะครับ ผมเรียนจบมาก็เริ่มทำงานประจำในบริษัท เช่นกัน

ทำมาได้ 13ปี เปลี่ยนไป 4 บริษัท ข้อดีของการทำงานประจำก็คือ ได้เงินเดือนแน่นอนทุกๆ เดือน

มีโบนัส มีตำแหน่ง ยิ่งองค์กรใหญ่เวลาไปงานไหนมีแต่คนอยากเข้ามาคุยทำความรู้จัก

ได้เจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ได้เรียนรู้ระบบการทำงานหลากหลาย จากฝ่ายต่างๆ ในบริษัท

 

สมมุติว่า

คุณ A เรียนจบ ปริญญาตรี (ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 16-18ปี) เริ่มทำงานในบริษัทได้เงินเดือน 20,000 บาท

1ปี จะได้เงินเดือน 240,000 บาท + โบนัสสมมุติว่า 2เดือน 40,000 บาท แปลว่า1ปีจะมีรายได้ 280,000 บาท

ถ้าเงินเดือนขึ้นปีละ 8% ผ่านไป 10ปีก็จะมีเงินเดือนประมาณ 43,178 บาท

คราวนี้ถ้าไม่ได้พูดถึงว่าทำงานประจำหรือทำงานแบบอื่นๆ อันไหนดีกว่ากัน

เพราะคุยกันประเด็นอย่างนี้ยังไงก็ไม่จบ เอาเป็นว่าจะคุยกับเฉพาะมิติของเรื่อง การหาเงินจากการทำงานแล้วกัน

 

คุณ A อาจจะมีความรู้ความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง

ซึ่งสามารถนำไปสร้างรายได้เพิ่มนอกจากการทำงานประจำ

งานบางอย่างทำแล้วมีรายได้มากกว่างานประจำเสียอีก

เพียงแต่อาจไม่ได้งานตลอดเวลาเท่านั้น เรียกว่ารายได้เป็นช่วงๆ อย่างเช่น

 

  • การหาสินค้าต่างๆ มาขาย โดยทั่วไปกำไรจากการขายสินค้าจะอยู่ที่ 10-50%

เช่น ขายเสื้อผ้า ครีม เครื่องสำอางค์ ขนม เค็ก คุ๊กกี้

หรือขายสินค้าช่วงเทศกาลเช่น ขายปืนฉีดน้ำ ซองกันน้ำ ในวันสงกรานต์

 

  • รับสอนภาษาอังกฤษ คณิต ดนตรี ว่ายน้ำ เปียนโน ฯลฯ ค่าสอน 1-2 ชั่วโมง 800 – 3,000 บาท

ปกติเวลาตกลงเรียนจะคิดเป็นคอร์สก็ได้ หลักหมื่น

 

  • ขายของที่ตนเองมีความสนใจทาง LINE FB Instragram โดยการรีวิวสินค้า

และเมื่อมีคนสนใจก็ติดต่อนำสินค้าไปส่งและรับเงิน รายได้อาจไม่แน่นอน

แต่ถ้าสินค้าเป็นที่นิยมตรงกลุ่มเป้าหมาย อาจมีรายได้หลักพันถึงหลักหมื่นได้

 

  • รับงานนอกเวลาที่ตนเองชำนาญ เช่น ทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แปลงานเป็นล่าม

รับงานออกแบบ ทำเสื้อผ้าขาย งานเฉพาะเหล่านี้สามารถเรียกราคาสูงได้

เช่นเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น 1 วันได้ 5พัน-1หมื่น

 

  • เป็นนายหน้าหาห้องเช่า-ผู้เช่า ได้รับค่าคอมมิชชั่น

 

จะเห็นว่างานที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นงานที่ต้องใช้เวลาออกไปทำเพื่อให้ได้เงินมาเช่นเดียวกับ การทำงานประจำ

ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเหนื่อยกับงานประจำแล้วก็ไม่คิดอยากจะทำ แต่หลายๆคนที่ได้เริ่มแบ่งเวลามาทำ

เมื่อเห็นว่าทำได้ดีมีรายได้เข้ามามากกว่านั่งทำงานประจำจึงออกมาทำเต็มตัว

ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ในลักษณะของผู้ประกอบการรายย่อย

 

แต่ผมจะขอยกตัวอย่างที่เป็นการทำงานในรูปแบบ การลงทุน(จะเขียนอย่างละเอียดในเรื่องวางแผนลงทุน)

เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ โดยที่เราไม่ต้องไปลงมือทำตลอดเวลาเพียงแต่ต้องสร้างทรัพย์สินในตอนแรก

 

  • นาย ก มีรายได้ต้องเสียภาษีจึง แบ่งเงินมาลงทุนในกองทุน LTF ที่ปันผล และได้เงินปันผลมาปีละ 2 หมื่นบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี
  • นาย ข สนใจเรื่องหุ้น จึงลงทุนในหุ้นที่มีเงินปันผลเลือกหุ้นใหญ่ที่มีประวัติปันผลสม่ำเสมอ ได้ปันผลปีละ 8หมื่นบาท
  • นาย ค มีเงินทุนก้อนหนึ่ง นำไปลงทุนห้องเช่าเล็กๆ หนึ่งหลังเก็บค่าเช่าเดือนละ 6พัน ปีละ 72,000 บาท
  • นาย ง ร่วมหุ้นกับเพื่อนลงทุนร้านไอศรีมในห้าง ลงเงิน2แสนบาท หลังผ่านไป2ปี ได้รับเงินปันผลปีละ 5หมื่นบาทต่อเนื่องทุกปี
  • เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หนังสือ บทความ ภาพวาด ที่มีคนนำไปใช้
  • การทำธุรกิจเครือข่าย* (ต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนเพราะอาจไม่เหมาะกับคนทุกคน)

คนที่ทำแล้วสำเร็จอาจมีรายได้เล็กน้อย ไปจนรายได้ปีละหลายสิบล้าน

 

รายได้จากการลงทุนนี้เรียกว่าเป็น passive income คือ เราจะต้อง มีความรู้

มีทุนหรือหาทุนได้ มีความทุ่มเท คัดเลือก ดูแล จัดการ ในช่วงแรกให้ดี

หลังจากนั้นการลงทุนเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนเรา

โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาเหมือนงานประจำ

และที่สำคัญรายได้จากการลงทุนมักจะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

 

ในแง่ของภาษีเงินได้

รายได้ที่ได้จากการทำงานประจำ เป็นรายได้มาตรา 40(1)

ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้น้อยที่สุดในกลุ่มรายได้ที่ต้องเสียภาษี

รายได้จากการขายสินค้าสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้สูงสุดถึง 80%

หรือรายได้จากการลงทุนหุ้นปันผลก็สามารถเครดิตภาษีได้*

 

อยากให้เพื่อนๆ ลองพิจารณาดูว่าตนเองชอบอะไร ถนัดเรื่องใด แล้วใช้เรื่องนั้น

มาทำเป็นงานให้มีรายได้ขึ้นมา เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นมาแล้ว ในตอนหน้าจะมาแนะนำวิธีใช้เงินนะครับ ^_^

 

      ปล. ผมอยากท้าให้เพื่อนๆ “ท้าทายตัวเอง โดยหาเงินให้ได้อย่างน้อย 1,000 บาท

ด้วยการหาเงินจากวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานประจำของคุณ ทำให้ได้ภายใน 1 เดือน

แล้วจะเข้าใจความหมายของบทความในวันนี้”

 

ได้เรื่องอย่างไรเรามาแชร์กันครับ

2 Comments

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

ลดภาษีด้วยอะไรดีกว่ากัน

DSC_5225

ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกขณะ ถึงเทศกาลลดหย่อนภาษีมนุษย์เงินเดือน

 

ผมมีเพื่อนบางคนรายได้ปีละ 1,200,000 บาท ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีใดๆ เลย

ก็โดนบริษัทหักภาษีตอนจ่ายเงินเดือน ไปเดือนละประมาณ 1หมื่นบาท ครบปีก็เสียภาษีรวม 120,000 บาท

ตอนยื่นภาษีเดือนมีนาคมปีถัดไปก็แค่ยื่นว่าเสียภาษีถูกต้องครบถ้วน และเขาก็คิดว่า ดีจังไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ^^

ด้วยรายได้ปีละ 1.2ล้านบาทนี้ อัตราฐานภาษีสูงสุดของเพื่อนคนนี้คือ 20% หมายความว่า

ทุกๆ 100 บาทที่ลงทุนเพื่อลดภาษีจะได้ภาษีคืน 20 บาท ถ้าลงทุน 100,000 บาทก็ได้ภาษีคืน 20,000 บาท

 

คราวนี้ก็เป็นคำถามสำคัญแล้วว่า ถ้าสนใจจะลงทุนเพื่อลดภาษีจะลงทุนอะไรดี ระหว่าง LTF RMF ประกันชีวิต

เนื่องจากว่า หากเราที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ปานกลาง คงจะไม่มีเงินสดเหลือจากใช้จ่ายจำนวนมากพอ

ที่จะลงทุนทุกอย่างเพื่อลดภาษีได้อย่างเต็มสิทธิ ดังนั้น หากจะต้องเลือก เราจะเลือกลงทุนอะไรดี

 

เงื่อนไขการลงทุนเพื่อลดภาษีในแต่ละรายการ

LTF             ไม่เกิน 15% ของรายได้รวม และไม่เกิน 5แสนบาท

RMF            ไม่เกิน 15% ของรายได้รวม และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วไม่เกิน 5แสนบาท

ประกันชีวิต    ไม่เกิน 100,000 บาท

 

แต่เหตุผลสำคัญจากการพูดคุยกับเพื่อนหลายคนทำให้พบว่า จริงๆ แล้ว เงินที่จะลงทุนนั้นก็มีอยู่

แต่กลัวภาระผูกพันมากว่า คือไม่มั่นใจว่าอีก 5-10ปีข้างหน้าจะยังทำงานอยู่ไหม?

แล้วหากมีภาระผูกพันที่จะต้องลงทุนต่อเนื่องแต่ตอนนั้นรายได้สะดุดจะเดือนร้อนหรือเปล่า?

จึงพยายามหาการลงทุนสิ่งที่มีภาระน้อยที่สุด ลงทุนระยะเวลาสั้นที่สุด

 

จึงอยากจะสรุปออกมาให้เห็นว่าข้อดีข้อด้อยความเสี่ยงของแต่ละรายการคืออะไร^^

 

LTF

ข้อดีคือ  ภาระผูกพันน้อยที่สุด อยากลงทุนปีไหนก็ลง ไม่อยากลงทุนก็ไม่ต้องลง

ขอแค่ถือให้ครบ 5 ปีปฎิทินก็พอ  มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงเพราะกองทุนนำเงินไปลงในหุ้นสามัญ

 

ข้อเสียคือ มีโอกาสขาดทุนหากหุ้นที่กองทุนไปลงทุนราคาตกต่ำ ความเสี่ยงสูง

 

RMF

ข้อดีคือ วันที่คุณอายุ 55ปี จะมีเงินก้อนใหญ่รอคุณอยู่ คุณจะนึกขอบคุณคนที่แนะนำให้คุณซื้อ RMF

ถ้าอยากเก็บเงินเพื่อเกษียณ การซื้อ RMF ช่วยคุณได้จริงๆ มีกองทุนให้เลือกทั้งเสี่ยงต่ำไปจนเสี่ยงสูงมาก

 

ข้อเสียคือ มีภาระผูกพันต้องซื้อทุกปีต่อเนื่องไปจนอายุ55ปี สำหรับคนที่กลัวภาระผูกพัน

และคิดว่าไม่น่าจะซื้อตัวนี้มาเลยตั้งแต่แรกทางแก้ก็คือ แค่ซื้อต่อไปทุกปี ปีละ5พันบาท เพื่อรักษาสิทธิ

 

ประกันชีวิต

ข้อดีคือ  ช่วยเก็บออมเงิน และมีความคุ้มครองมากกว่าเงินที่เก็บกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ความเสี่ยงต่ำมากได้เงินคืนไม่ขาดทุนแน่นอน

 

ข้อเสียคือ เป็นภาระผูกพันแน่นอนตามแบบที่ซื้อ เช่น ซื้อประกัน 25/15 จำนวน 50,000 บาท

คือต้องส่งเงิน 50,000 บาททุกปีเป็นเวลา 15ปี และเมื่อครบ 25ปี

จึงจะได้เงินก้อนใหญ่คืน(ระหว่างทางอาจมีเงินคืนด้วย)

นี่คือสาเหตุที่คนส่วนใหญ่กลัวการทำประกัน เพราะกลัวว่ามีภาระแน่นอน เช่นกรณีนี้คือ 15ปี

และเนื่องจากความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำมาก ผลตอบแทนที่แท้จริงก็ต่ำด้วยเช่นกัน

(อย่าไปเชื่อการคำนวณแบบพิศดาร ว่าได้ผลตอบแทนเป็น 100%-200%

ผมบอกได้เลยว่าผลตอบแทนที่แท้จริงนั้นพอๆ กับเงินฝากประจำ 24เดือน)

 

จะว่าไป LTF RMF ประกันชีวิต ต่างก็มีจุดดีจุดด้อยของตัวเอง สำหรับผมแล้วลงทุนทุกอย่างเลยครับ

ขอให้เพื่อนๆ เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองและได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุดนะครับ ^_^

 

ปล. สำหรับไฟล์คำนวณภาษีแบบง่ายๆ ที่ผมทำไว้เพื่อนๆ สามารถdownloadได้

จากบทความ โปรแกรมคำนวณภาษีแบบง่ายสุดๆ ก่อนหน้านี้นะครับ

Leave a comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

โปรแกรมคำนวณภาษีแบบง่ายสุดๆ

DSC_4794

ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกที เพื่อนๆ วางแผนภาษีกันหรือยังครับ?
ปัญหาเรื่องการวางแผนภาษีที่เจอบ่อยๆก็คือ ไม่รู้ว่าควรจะลงทุน LTF RMF ประกัน เท่าไรดี ^^

 

เนื่องจากอัตราภาษีของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า หมายความว่ายิ่งรายได้สูงยิ่งเสียภาษีมาก

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ

คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท ประมาณปีละ 240,000 บาท

เมื่อคำนวณอัตราภาษีแล้ว จะไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาท

ส่วนคนที่มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท ประมาณปีละ 1,200,000 บาท

เมื่อคำนวณแล้วจะเสียภาษีประมาณ 140,250 บาท!!!

 

จุดนี้สรรพากรจึงเปิดโอกาสให้มนุษย์เงินเดือนบริหารเงินเพื่อลดภาษี

โดยการ ลงทุนผ่าน LTF RMF ประกัน และค่าลดหย่อนอื่นๆ

 

ในกรณีคนที่มีรายได้ปีละ 1,200,000 บาทนี้ หากเขานำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนใน LTF RMF และประกัน

เขาจะได้ภาษีคืนสูงสุดได้ถึง 91,600 บาท

(ที่จริงสามารถขอคืนได้ถึง 140,250 บาท เรียกว่าไม่เสียภาษีเลย หากเขาใช้สิทธิลดหย่อนเต็มทุกรายการ)

 

ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านไม่รู้ว่าควรจะลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแต่ละรายการเท่าไรดี

และไฟล์คำนวนที่เคยเจอมาก็ดูซับซ้อน

 

วันนี้ PEFINANCE จึงทำไฟล์ Excel แบบง่ายๆ กรอกข้อมูลแค่ไม่กี่รายการ(เฉพาะช่องสีเหลือง)

ก็รู้ได้ทันทีว่าควรจะลงทุนเพื่อลดภาษีเท่าไรดี  โดยดูจากแถบสีเขียวตรงกลาง

– หากจำนวนเงินเป็น สีดำ แปลว่า ต้องเสียภาษีเพิ่ม

– หากจำนวนเงินเป็น (สีแดง) แปลว่า ได้ภาษีคืน

หากเพื่อนคนใดสนใจก็สามารถ Download ได้ที่นี่เลยนะครับ Easy Tax Calculation

Easy Tax Calculation1

ขอให้เพื่อนๆ ลงทุนเพื่ออนาคตของตนเองและได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไปพร้อมๆ กันนะครับ ^_^

6 Comments

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

ตั้งเวลารวย

DSC_4254

          ถ้ามีวิธีที่จะทำให้เพื่อนๆ มีเงิน 1 ล้านบาท ด้วยการเก็บเงินเดือนละแค่ 2พันบาทเพื่อนๆ สนใจไหมครับ?  ฟังดูคร่าวๆ แล้วเหมือนโกหก เก็บเงินเดือนละ 2พัน ปีหนึ่งก็ 24,000 บาท ถ้า 15ปีก็ 360,000 บาท ทำไมเป็น 1 ล้านได้ จะว่าไปหลายคนสามารถเก็บเงินล้านได้เร็วกว่านี้อีก หากเพิ่มเงินที่เก็บให้มากขึ้น หรือ หาวิธีเก็บเงินแบบเจ๋งๆ

 

วิธีเก็บเงินที่ว่านี้ไม่ยากเลยครับ ผมขอเรียกว่า ตั้งเวลารวย!!

 

เวลาที่เราเข้านอนแล้วอยากจะตื่นตอนหกโมงเช้า สิ่งที่เราควรทำก็คือ การตั้งนาฬิกาปลุก

เพื่อให้ช่วยปลุกเราตามเวลาที่ต้องการ ดีกว่าจะไปลุ้นว่าตัวเองจะตื่นนอนตอนหกโมงเช้าได้หรือไม่

ยิ่งถ้าเรามีนัดสำคัญที่จะต้องไปแต่เช้า และจะต้องตื่นเร็วเพื่อจะไปให้ทันธุระ

เราก็ยิ่งควรใช้นาฬิากาปลุกเป็นตัวช่วยอย่างมาก

 

เรื่องการเงินก็เหมือนกัน หลายคนมีเป้าหมายอยู่แล้วว่าอยากจะเก็บเงินให้ได้สักก้อน

แต่ที่ผ่านมากลับปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้เก็บออมโดยมีเหตุผลต้องใช้เงิน ต่างๆ นาๆ

กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าจะต้องเก็บเงินก็อาจจะสายเกินไปแล้ว

 

จะว่าไปคนส่วนใหญ่เลยที่ผมได้พบมา รวมทั้งตัวผมเองด้วย หากมีเงินเหลือๆ ในกระเป๋า

ก็อดไม่ได้ที่จะใช้จ่าย เมื่อสมการการเงินเท่ากับ   รายได้-ใช้จ่าย=เงินออม แล้วล่ะก้อ

มีความเป็นไปได้สูงมากที่ รายได้ในแต่ละเดือนจะถูกใช้จ่ายจนหมด ก่อนที่จะเหลือเป็นเงินออม

 

วิธีการที่ผมจะแนะนำก็คือการออมเงินอย่างมีระบบโดยการตัดเงินอัตโนมัติทุกเดือน

เพื่อนำไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม ถ้ากำหนดให้ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นอยู่ที่ 12% ทบต้นต่อปี*

คุณมีเงินเดือน 2 หมื่นบาท แล้วคุณเก็บเงินเดือนละ 2 พัน คุณจะมีเงินล้านได้ภายใน 15 ปี

 

ในระยะสั้นการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างมาก แต่ในระยะยาวแล้วการลงทุนในตลาดหุ้นคือ

การลงทุนในธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตตามเศรษฐกิจ  ดังนั้นในระยะยาวแล้ว

การลงทุนในตลาดหุ้นเสี่ยงน้อยกว่าการฝากเงินไว้กับเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคาร

ที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผู้ฝากเงินขาดทุนแน่นอน

(ขอบคุณรูปประกอบจากเวป A-Academy) อ่านเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ http://www.a-academy.net/blog/stock-risk-vs-time-horizon

 

Stock-Risk-vs-Time-Horizon

 

 

ที่ผ่านมาคิดว่าหลายคนก็เคยพยายามเก็บเงิน ซึ่งเงินเก็บต่อเดือนอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

แต่สุดท้ายเงินนั้นก็ถูกนำไปใช้ระหว่างทางตลอด จนการเก็บเงินไม่สำเร็จ

เพื่อนๆ ลองตอบตัวเองนิดหนึ่งครับว่า “เราทำงานมาแล้วกี่ปี? แล้วเก็บเงินได้หลายล้านยัง?”

 

ถ้าที่ผ่านมายังเก็บเงินไม่สำเร็จสักที ผมอยากแนะนำให้เพื่อนๆ

ลองตั้งเวลารวยของตนเองขึ้นมาครับ ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น ^_^

Leave a comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

ภาษีมนุษย์เงินเดือน

IMG_4822

ตั้งแต่ตอนผมเด็กๆ ก็ไฝ่ฝันที่อยากจะทำงานบริษัท ได้แต่งตัวดีๆ ทำงานห้องแอร์ มีเพื่อนฝูงไฮโซ

มีความอิสระในแง่วันหยุดวันลา สิ้นเดือนก็ได้เงิน

แต่แม่เคยบอกผมว่า “ไปเป็นลูกจ้างคนอื่นไม่รวยหรอกนะ สู้เป็นเจ้าของเองไม่ได้ “

แต่ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าทำงานบริษัทเท่ห์กว่าและดูรวยกว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าอีก

พอโตมาก็เริ่มเข้าใจว่า ที่จริงมันก็ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกหรอกเพราะแต่ละงานก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป

เอาเป็นว่าทำงานแล้วมีความสุขกับสิ่งที่ทำและได้เงินด้วยก็ดีที่สุดแล้ว

 

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสวางแผนการเงินให้กับเพื่อน

ที่มีรายได้จากงานประจำและรายได้จากการค้าขายสินค้า

จึงได้พบคำยืนยันที่น่าตกตะลึงว่า มนุษย์เงินเดีอน

คืออาชีพที่เสียภาษีเยอะสุด หลีกเลี่ยงภาษียากสุด และ หักค่าใช้จ่ายได้น้อยสุด

Image

มนุษย์เงินเดือนรายได้เดือนละ 2 แสนบาท เสียภาษีปีละ    467,000 บาท

พ่อค้าที่ขายสินค้าได้วันละ 6,575 บาท (เดือนละ2แสน) เสียภาษีปีละ   25,500 บาท

จริงอยู่ที่สินค้ามีต้นทุนในการซื้อมาขายและค่าเช่าร้าน

แต่พนักงานบริษัทก็มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวไปทำงานไม่ต่างกัน

ผมมีเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าทำงานบริษัทค่าใช้จ่ายจริงสูงมากแต่เอามาหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลยมาให้ฟังกัน

 

มีน้องคนหนึ่งที่ผมสนิทมาก เมื่อเรียนจบแล้วเข้าทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง

ได้เงินเดือน 15,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเช่าหอ 4,000 บาท ค่าเสื้อผ้าเครื่องสำอางค์ 2,000บาท

ค่าเดินทาง 2,000 บาท ค่ากิน 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2-3,000 บาท สรุปว่าแทบไม่มีเงินเก็บเลย

ทำงานได้ 2 ปีกว่า ก็ลาออกกลับไปขายของที่บ้านเกิด

เก็บเงินฝากธนาคารวันละ 1พันบาท ได้ปีละ 360,000 บาท

 

น้องคนนี้ถามผมว่าเงินเก็บปีละ 3.6 แสนบาท เยอะไหม?

ผมบอกว่า ถ้าน้องยังทำงานเงินเดือน 15,000×12=180,000บาท

ต่อให้เก็บเงินทั้งหมดไม่ใช้เลยยังได้แค่ครึ่งเดียวเองดังนั้น เงินเก็บขนาดนี้โอเคสุดๆ แล้ว ^^

 

ทำให้ระลึกถึงคำพูดของแม่ขึ้นมาอีกครั้งว่า

“ไปเป็นลูกจ้างคนอื่นไม่รวยหรอกสู้เป็นเจ้าของเองไม่ได้ “ ^_^

1 Comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management

บำนาญ อภิชาตบุตร

   DSC_2008

คนเราสมัยนี้มีการศึกษาสูง หากเรียนจบ ปริญญาโท กว่าจะเริ่มทำงานก็ประมาณอายุ 25ปี

ทำงานจนเกษียณก็อายุประมาณ 55-60ปี ซึ่งสมัยนี้คนอายุ 50-60ปี

ยังคงแข็งแรง กระชุ่มกระชวย เต่งตึง ดึงดั๋ง แต่ด้วยอายุที่ถึงเกณฑ์

ทำให้ ต้องเกษียณออกจากงานโดยปริยาย เรียกได้ว่าร่างกายและจิตใจ

ยังหนุ่มยังสาวอยู่ แต่คงไม่มีบริษัทไหนเปิดรับเข้าทำงานแล้ว นอกจากจะทำธุรกิจส่วนตัว

 

แต่ก็อีกแหละคนที่เคยทำงานในองค์กรมาตลอดชีวิต ทำงานด้านเดียว มีลูกน้องมีทีมงาน

มีเงินทุนของบริษัทให้ใช้ในการทำธุรกิจในฐานะลูกจ้าง หลายกรณีเมื่อเกษียณออกจากงานบริษัท

ก็คิดจะมาทำธุรกิจส่วนตัว เช่น เปิดร้านอาหาร ร้านค้า ธุรกิจเล็กๆ เหมือนกับที่เคยทำในบริษัท

ด้วยเงินทุนก้อนใหญ่ตอนที่ออกจากงานเมื่อเกษียณไม่ว่าจะเป็นเงินก้อน 2 ล้าน 5 ล้าน 10 ล้านก็ตามแต่

กลับพบความลำบากและไม่ประสบความสำเร็จจำนวนมากเพราะ ขาดสิ่งที่เคยได้จากบริษัทมาช่วยเมื่อทำธุรกิจส่วนตัว

 

หลายคนสงสัยว่าในเมื่อได้เงินก้อนโตตอนเกษียณ เช่น จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินที่บริษัทจ่ายให้ตอนออกจากงาน และ กองทุน RMF ที่ขายเมื่ออายุครบ 55 ปี

แล้วทำไมไม่เก็บเงินนั้นไว้ทยอยใช้ไปจนแก่ตายล่ะ

 

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า มีคนส่วนหนึ่งที่เมื่อมีเงินก้อนใหญ่ๆ แล้ว ก็มักจะมีแผนที่จะใช้เงินนั้น

ในการลงทุนทำธุรกิจ ในการช่วยเหลือคนอื่น การรักษาตัว หรือมีความจำเป็นต่างๆ ฯลฯ เข้ามา

แล้วก็ใช้เงินนั้นจนหมด ลองคิดดูนะครับว่าหากคุณทำงานตั้งแต่อายุ 25-55ปี เท่ากับมีเวลา 30ปีในการทำงาน

แล้วหากว่าวันที่คุณเกษียณตอนอายุ 55ปี ได้เงินก้อนหนึ่งจำนวน 10ล้านบาท

คุณคิดไหมว่าคุณอาจจะอยู่ถึงอายุ 85ปี ซึ่งก็คือ 30ปีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่เช่นกัน

แต่ด้วยการลงทุนทำธุรกิจหรือใช้จ่ายจนหร่อยหรอ เมื่อคุณอายุสัก 62ปี ตอนนั้นคุณรู้สึกยังหนุ่ม ยังสาว อยู่

แต่อนิจาเงินในบัญชีเหลืออยู่สัก 1ล้านกว่าบาท คุณจะรู้สึกอย่างไร??? แล้วอีก 23ปีข้างหน้าจะอยู่อย่างไรดี??

 

คุณจะมีโอกาสกลับไปหาเงินอีกครั้ง เก็บเงินอีกครั้ง หรือทำธุรกิจอีกครั้งจากเงินก้อนสุดท้ายที่เหลือนี้ได้หรือไม่??

โอเคหรือหากโชคดีคุณอาจจะมีลูกๆหลายคน ซึ่งน่าจะมีสักคนหรือทุกคน

ที่จะส่งเสียเลี้ยงดูคุณทุกเดือนสักเดือนละ 2-3หมื่นบาทไปจนคุณจากไป^^

 

แต่สำหรับผมที่แต่งงานกับภรรยามา 12ปีเต็ม และตั้งใจว่าจะไม่มีลูกตั้งแต่ก่อนที่จะแต่งงานกัน

แต่วันนี้ผมได้สร้างอภิชาตบุตรให้กับผมและภรรยา ชื่อว่า “น้องบำนาญ”

ค่าใช้จ่ายในการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรคนนี้ไม่ได้สูงอะไรเลย ไม่กินนม ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม

ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องเรียนอินเตอร์ ไม่งอแง ไม่มีเรื่องกับใคร แถมยังช่วยพ่อแม่ ลดภาระภาษี

ที่สำคัญเมื่อวันที่เราสองคนเกษียณจากงาน บุตรคนนี้จะเลี้ยงดูผมและภรรยาไปตลอดชีวิตของเรา

แม้จะไม่ได้มาเยี่ยมเยียนดูแลรับส่งหรือมาพูดคุยอะไรกับเรา

แต่ทุกๆ ปี ทุกๆ ไตรมาส หรือ ทุกๆ เดือนเขาจะเอาเงินมาให้เราใช้ ไปจนตลอดชีวิตของเรา

ผมมีแผนจะรับบุตรเพิ่มอีกหลายคน ให้ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองเลยครับ

แล้วเพื่อนๆ ล่ะครับ ลองหาอภิชาตบุตรไว้คอยดูแลยามแก่เฒ่าสักคนดีไหมครับ ^^

Leave a comment

Filed under การลงทุน, การเก็บออม การบริหารเงิน, Financial Management